top of page

เรื่องเล่าจากโรงเรียน

เขียนโดย :

ดวงพร เลาหกุล

ผู้อำนวยการโรงเรียนมงคลวิทยา จังหวัดลำพูน


วันที่เผยแพร่ :

19 ตุลาคม 2563

 

ในช่วงเวลาที่มีเรื่องราวร้อนแรงโหมกระหน่ำเข้ามา ช่วงเวลาที่กระแสอารมณ์ของผู้คนเชี่ยวกราก เพื่อนนักจิตวิทยาผู้ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือผู้คนมาเป็นเวลานานเปรยว่า..สงสารผู้คนที่เกี่ยวข้องจัง พวกเราควรต้องช่วยสังคมตรงนี้แล้วกระมัง เราน่าจะทำอะไรกันได้บ้างไหม.. เป็นถ้อยคำที่ทำให้ครุ่นคิด..


ท่ามกลางกระแสการตำหนิ คาดคั้น ขุดค้น กล่าวโทษ วิพากษ์วิจารณ์ทั้งปวง ..ทำอะไรได้บ้างไหม..ช่างเป็นถ้อยคำที่แตกต่าง อันบ่งบอกหัวใจของนักปฏิบัติที่มุ่งแต่จะช่วยเหลือและดูแลเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง เป็นหัวใจแบบพิเศษที่ใช้นำพาผู้คนจากที่มืดสู่ที่สว่าง จากความอึดอัดคับข้องสู่ความปลอดโปร่ง และก้าวต่อไปได้ในเส้นทางของชีวิตอันปกติสุข


ทำอะไรได้บ้าง..พาให้ย้อนคิดถึงวัยเริ่มต้นการทำงาน ที่กลับบ้านมาทำหน้าที่ในโรงเรียนพร้อมกับความฝันอันยิ่งใหญ่ ที่จะใช้ความรู้ ใช้ทักษะที่ฝึกฝนมาสร้างงานอย่างที่ฝัน ด้วยเรียนในรุ่นก่อนประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งสาขาจิตวิทยาการปรึกษา ภาพฝันที่แบกกลับมาจึงติดอยู่กับรูปแบบที่เคยฝึกฝน ต้องมีห้องแนะแนว ห้องให้การปรึกษา ต้องมีกลุ่มพัฒนาตน ต้องดูแลเด็กทุกคนด้วยแนวทางอย่างที่ฝัน และแน่นอนว่า ภาพฝันกับความเป็นจริงนั้นแตกต่าง ทรัพยากรที่มีอยู่ วิธีคิด วิธีทำงาน การสื่อสารกับผู้คน ล้วนยากลำบาก และเป็นยุคที่ห่างไกลจากการสื่อสารออนไลน์ ทำให้ได้ชัดเจนกับความรู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คนยิ่งนัก


โชคดีที่ได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ เพื่อน พี่ น้อง ผู้ร่วมเส้นทางฝัน ที่ได้ร่วมกันประคับประคองให้ค่อยก้าวเดินมาจนถึงวันนี้ วันที่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นจริงตรงหน้า ค่อยปรับ ค่อยพัฒนา จนพอจะบอกเล่าได้ถึงความเป็นไปในเส้นทางของตน


ได้เรียนรู้ทีจะใช้หัวใจและความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์นำทางในการทำงาน ผสานด้วยทักษะและประสบการณ์ที่ได้ฝึกฝนต่อเนื่องมา มองให้เห็นว่าจะทำสิ่งใดได้บ้างอย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เรียนรู้ที่จะมองในมุมของผู้ร่วมงานบ้างแล้วค่อยหาแนวทางสานต่อตามที่หวัง


เมื่อเข้าใจว่างานที่ทำอยู่ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยตนเองเพียงลำพังก็ต้องหาทางประสานกำลังความร่วมมือให้เกิดขึ้น พยายามจัดการให้เกิดชุมชนแห่งมิตรไมตรี สร้างวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตและทำงานในโรงเรียนร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร ช่วยเหลือเกื้อกูล ชี้แนะแนวทาง เป็นแบบอย่างซึ่งกันและกัน ชวนกันใช้การงานให้เป็นสะพานเชื่อมใจ ชวนกันใช้ชีวิตด้วยวิถีแห่งความพอเพียง เปลี่ยนการแข่งขันเป็นการช่วยเหลือแบ่งปัน ชวนกันทำให้การทำงานเบิกบานและมีความสุข ด้วยการชื่นชมกับความสำเร็จความดีงามของตนเองและผู้อื่น ไม่ตำหนิแต่เรียนรู้จากความผิดพลาดแล้วแก้ไขร่วมกัน และที่สำคัญชวนกันทำงานด้วยความรัก ความรู้ และความเป็นครูที่แท้


แต่ละครั้งแต่ละปี ที่ได้ลงมือทำ ทั้งด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาหลากหลาย ทั้งการใช้ชีวิตของตนในวิถีที่ชวนผู้คนรอบข้างให้มุ่งไป เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนใหม่ไปตามสถานการณ์ เมื่อมั่นคงต่อเนื่องในแนวทางจึงได้เห็นความเติบโตและงอกงามของผู้คนที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมและชุมชนดังที่หวัง และด้วยบรรยากาศของการทำงานเช่นนั้น ก็เอื้อเฟื้อให้เด็กๆ ได้รับการดูแลช่วยเหลือมากขึ้น รอยยิ้มและความมีชีวิตชีวาที่เพิ่มขึ้นของเด็กที่เพิ่งอ่านหนังสือออกเมื่อชั้น ป.5 เด็กฝาแฝดที่สามารถก้าวเดินและวิ่งตามเพื่อนได้คล่องแคล่วขึ้นเมื่ออายุเกือบหกปี วัยรุ่นที่ครูต้องช่วยกันติดตามให้มาเรียนและประคับประคองจนจบชั้น ม.3. เรื่องราวการเติบโตของเด็กที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษอีกมากมาย ศิษย์เก่าที่กลับมาเยี่ยมโรงเรียนด้วยระลึกถึงความสุขที่ได้รับ ล้วนเป็นรางวัลที่มีค่าสำหรับครู


แน่นอนว่ากว่าจะเห็นผล เบื้องหลังย่อมมาจากการทำงานจากหัวใจแบบพิเศษดังกล่าว การสอนในห้องเรียนที่มีเด็กชายผู้พร้อมจะระเบิดอารมณ์ได้ทุกเมื่อนั้น ครูต้องทั้งจัดกิจกรรมการสอนและจัดการตอนที่คุณคนพิเศษหงุดหงิดอาละวาดขว้างปาข้าวของ ต้องสังเกตและหาวิธีป้องกันแก้ไข ต้องศึกษาจนเข้าใจในธรรมชาติอารมณ์ จุดเด่น จุดด้อยของเธอ ต้องชวนเพื่อนๆ ให้เข้าใจ ยอมรับ รวมทั้งขอให้ช่วยเหลือดูแลร่วมกัน ต้องโน้มน้าวให้ผู้ปกครองเด็กอื่นเห็นถึงโอกาสที่จะสอนลูกให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความเข้าใจและเมตตา ให้กำลังใจผู้ปกครองของคุณคนพิเศษให้เชื่อมั่นว่าลูกจะพัฒนาขึ้นได้ ทั้งใช้วิธีการส่งต่อในทีมคนทำงานทั้งโรงเรียนไม่ว่าครูและลุงป้าคนงานภารโรงให้ร่วมมือดูแลไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน ซึ่งหลังจากผ่านมา 2 ปี เธอก็มีความก้าวหน้าให้เห็นชัดเจนขึ้น อยู่กับเพื่อนๆ อย่างมีความสุขมากขึ้น


การชวนให้ครูค้นพบหัวใจแบบพิเศษนี้ยังทำให้ครูพบความสุขจากการสอนได้แตกต่างจากเดิม การได้ค้นพบว่าเมื่ออยู่กับเด็กๆ อย่างยอมรับและเข้าใจในจุดเด่น จุดด้อยของเด็กแต่ละคน และสามารถส่งเสริมให้เด็กพัฒนาขึ้นไม่ว่าในด้านใดด้านหนึ่ง ก็ช่วยเติมใจ เติมความเชื่อมั่น ให้ร่วมกันสานต่อวิถีแห่งการเป็นครูที่แท้และส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมชุมชนแห่งมิตรไมตรีให้คงอยู่ได้อีก


เมื่อย้อนมองว่า..ทำอะไรได้บ้าง.. ไม่ได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่ได้ทำมีเพียงการชักชวนให้ผู้คนใกล้ตัวคิดและลงมือทำในวิถีที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดการใช้ชีวิตอันปกติสุข ช่วยเหลือกันและกันให้เกิดความสำเร็จในการงานและการพัฒนาตน แบ่งปัน เรียนรู้ร่วมกันบ้าง ชื่นชมและขอบคุณสิ่งดีๆ ที่ได้พบเห็น เป็นกำลังใจให้แก่ผู้อื่นบ้าง แม้รูปแบบของการทำงานอาจแปรเปลี่ยนไปจากภาพฝันในวัยเริ่มทำงาน แต่ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และฝึกฝนการทำงานด้วยหัวใจแบบพิเศษนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนตามกำลังของตนต่อไป


และเชื่อว่า มีเรื่องราวของผู้คนอีกมากมายที่มุ่งมั่นตั้งใจนำพาผู้อื่นให้ก้าวต่อไปได้ในเส้นทางของชีวิตอันปกติสุข ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละคน หากชวนกันบอกเล่าเรื่องราวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่กันและกัน เติมใจให้มีกำลังทำงาน แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และ ทำในส่วนของตนได้อย่างมีความสุข ชวนกันทำสิ่งเล็กๆ ที่รวมกันแล้วอาจเกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่ช่วยสังคมได้ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ก็น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งของคำถาม..เราจะทำอะไรกันได้บ้างไหม..ไหมคะ


 

* ข้อความในบทความนี้ เป็นทัศนะของผู้เขียนมิใช่ของผู้จัดทำหรือสมาคมฯ หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัย โปรดติดต่อเจ้าของบทความโดยตรง

ดู 277 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page